ยะลาเดิมเป็นท้องที่หนึ่งของเมืองปัตตานีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.5)ได้มีการปรับปรุงการปกครองใหม่เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาลและได้ออกประกาศข้อบังคับสำหรับปกครอง 7 หัวเมือง รัตนโกสินทรศก 120 ซึ่งประกอบด้วยเมืองปัตตานีหนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และรามัน ในแต่ละเมืองจะแบ่งเขตการปกครองเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 ประกาศจัดตั้งมณฑลปัตตานีขึ้นดูแลหัวเมืองทั้ง 7 แทนมณฑลนครศรีธรรมราช และยุบเมืองเหลือ 4 เมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะต่อมา พ.ศ. 2450 เมืองยะลาแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 อำเภอได้แก่อำเภอเมืองยะลาและอำเภอยะหา ต่อมา พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกมณฑลปัตตานีและในปี พ.ศ. 2476 เมืองยะลาได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นจังหวัดยะลาตามพระราชบัญญัติราชอาณาจักรสยาม พ.ศ 2476 เรื่องการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด เป็นอำเภอ และให้มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารราชการ
เหตุที่เรียกชื่อว่ายะลานั้นเพราะพระยาเมืองคนแรกได้ตั้งที่ทำการขึ้นที่บ้านยะลา คำว่า ยะลา เป็นชื่อเรียกสำเนียงภาษามลายูพื้นเมืองมาจากคำว่า "ยาลอ” แปลว่า "แห” แต่ตามประวัติศาสตร์ซึ่งได้เขียนไว้ในสมัยเจ็ดหัวเมืองโดยเจ้าผู้ครองเมืองเดิมได้เขียนไว้เป็นประวัติศาสตร์เป็นภาษามลายูว่า"เมืองยะลา” เป็นสำเนียงภาษาอาหรับโดยชาวอินโดนีเย ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในบริเวณเจ็ดหัวเมือง ซึ่งอยู่ในแหลมมลายูเป็นผู้ตั้งชื่อเมืองไว้ เมืองยะลาเดิมตั้งอยู่ใกล้ภูเขายาลอห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองยะลาปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ต่อมาเมืองยะลาได้ยกฐานะเป็นเมืองเมืองๆ หนึ่งของบริเวณเจ็ดหัวเมือง
คุณภาพชีวิตมั่นคง เกษตรมั่งคั่ง ท่องเที่ยวยั่งยืน
มีลักษณะแสดงให้เห็นว่า จังหวัดยะลาอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก และอาชีพหลักของประชาชนในอดีตคือการทำเหมืองแร่ธงประจำจังหวัดยะลามีลักษณะด้านบนเป็นสีเขียว ด้านล่างเป็นสีขาว โดยมีตราประทับกึ่งกลางระหว่างแถบสีทั้งสอง
ศรียะลา(Saraca declinata)
ชื่อหลัก " ศรียะลา "(พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำ จังหวัดยะลา) ชื่ออื่น โสกเหลือง อโศกเหลือง อโศกใหญ่ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นไม่ผลัดใบ ขนาดเล็ก-กลาง สูง 10-15 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนาทึบ เปลือกต้นเรียบ สีเทา-น้ำตาล และมีต่อมอากาศกระจายทั่วลำต้น ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายใบคู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยมี 2-7 คู่ แผ่นใบรูปไข่หรือรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ขนาด 5-9 x 7-32 ซม. ปลายใบแหลมและมักมีรอยไหม้สีดำ โคนใบมนหรือสอบ ผิวใบด้านบนมองเห็นเส้นใบเป็นร่องลึกชัดเจน ดอกออกเป็นช่อ แบบช่อเชิงหลั่น ตามปลายกิ่งและลำต้น ฐานรองดอกขยายยาวมีรูปร่างคล้ายหลอด กลีบเลี้ยงมี 4กลีบรูปร่างคล้ายกลีบดอก สีเหลืองอมน้ำตาล ดอกออกเดือนตุลาคม-มกราคม ผลแบบฝักแบน แห้งแล้วแตก รูปขอบขนานแกมรูปหอก สีแดงปนน้ำตาล ปลายฝักโค้งทั้ง 2 ด้าน ขนาด 3.5-8 x 15-40 ซม. มี 2-3 เมล็ด สีแดงคล้ำ รูปไข่แกมรูปขอบขนานสภาพนิเวศ ขึ้นใกล้ลำห้วยในป่าดิบ ตามที่ลาดเชิงเขา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-350 ม.สถานภาพ พืชหายาก
ดอกพิกุล(Mimusops elengi)
พิกุลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านค่อนข้างแจ้ แบน คล้ายต้นหว้า มีพุ่มใบแน่น เหมาะสำหรับปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย ดอกมีกลิ่นหอม ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม ปลายแหลมมน มีขนาดใบกว้างประมาณ ๗ ซ.ม. ยาวประมาณ ๑๕ ซ.ม. เส้นกลางใบด้านท้องใบนูน ก้านใบยาวประมาณ ๓ ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อ เป็นกระจุก ดอกมีขนาดเล็กกว้างประมาณ ๑ ซ.ม. กลีบดอกเล็กแคบยาวเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มองดูริมดอกเป็นจักเล็ก ผลกลมโตคล้ายละมุดสีดา แต่เล็กกว่าเล็กน้อย ผลสุกสีแดงแสด ใช้รับประทานได้ รสฝาดหวานมัน การขยายพันธ์ ใช้เพาะเมล็ด หรือ ตอนกิ่ง ทางด้านสมุนไพร เปลือกใช้ต้มเอาน้ำอมเป็นยากลั้วล้างปาก แก้ปากเปื่อย ปวดฟัน ฟันโยกคลอน เหงือกบวม เป็นยาคุมธาตุ ดอกแห้งใช้ป่นทำยานัตถุ์ แก้ไข้ ปวดศรีษะ เจ็บคอ แก้ปวดตามร่างกาย แก้ร้อนใน
ยะลาเป็นจังหวัดที่เทศบาลมีการจัดวางผังเมืองแบบใยแมงมุมที่สวยที่สุดของประเทศไทยและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดความสะอาด 3 ปีซ้อนระหว่าง พ.ศ. 2538 - 2540 และได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลนครยะลาในปี พ.ศ. 2538 และในปี พ.ศ. 2540 ได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นเป็น 1 ใน 5 เมืองของประเทศไทยในโครงการเมืองน่าอยู่ทั่วโลก
ทิศเหนือ จดอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัด ปัตตานี
ทิศตะวันออก จดจดอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
ทิศใต้ จดรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันตก จดจังหวัดสงขลา และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งใน 4 จังหวัดของไทย ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 68.9 และประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู ถึงร้อยละ 66.1 นอกจากนั้นก็จะมีชาวไทย ชาวจีน และชาวญวน ภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวันก็จะมีภาษามลายูถิ่น ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันออกไป ภาษาไทย ซึ่งก็มีการใช้สนทนา รวมถึงภาษาจีน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชาวจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา รวมถึงภาษาของชาวซาไก ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอธารโต
นายอำพล พงศ์สุวรรณ นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล นายอำนาจ ชูทอง พันจ่าโท อนันต์ บุญสำราญ
ผู้ว่าราชการจังหว้ดยะลา รองผู้ว่าราชการจังหว้ดยะลา รองผู้ว่าราชการจังหว้ดยะลา รองผู้ว่าราชการจังหว้ดยะลา
สวนขวัญเมืองตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยะลา ห่างจากศาลหลักเมืองยะลาประมาณ 300 เมตร เป็นสวนสาธารณะของเทศบาลเมืองยะลา พื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 207 ไร่ ปรับปรุงขึ้นจากพรุบาโกยโดยจัดให้มีสวนกีฬา สนามแข่งขันนกเขาชวาเสียง ซึ่งเป็นสนามมาตรฐานที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และชายหาดจำลองสวนแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางมาทำพิธีเปิดป้ายชื่อ "สวนขวัญเมือง"
ตั้งอยู่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ ห่างจากจังหวัดยะลาไปตามทางหลวงหมายเลข 410 ประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 12 กิโลเมตร เขื่อนบางลางเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกในภาคใต้ที่สร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี เป็นเขื่อนแบบหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 85 เมตร สันเขื่อนยาว 422 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 1,420 ล้านลูกบาศก์เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนบางลาง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2524 บริเวณเหนือเขื่อนในบริเวณที่ตั้งของสำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีจุดชมทิวทัศน์มองเห็นทัศนียภาพของเขื่อน อ่างเก็บน้ำและทิวเขาโดยรอบได้สวยงาม
ตั้งอยู่ที่บ้านกาโสด ตำบลบันนังสตา ห่างจากจังหวัดยะลา ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ประมาณ 50 กิโลเมตร เลยแยกปากทางเข้าเขื่อนบางลางไปเล็กน้อย แล้วแยกซ้ายเข้าไปตามทางลูกรังอีก 1.5 กิโลเมตร มีทัศนียภาพของภูเขา ธารน้ำและถ้ำลอดที่สวยงาม ในช่วงที่น้ำน้อยสามารถเดินเลาะเลียบตามลำธารลอดถ้ำไปทะลุอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่โล่ง โอบล้อมด้วยภูเขาและแมกไม้เขียวขจี มีทัศนียภาพสวยงาม
เบตง เป็นอำเภอ ขนาดใหญ่ในจังหวัดยะลา นับเป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย ตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2441 คำว่า "เบตง" (Betong) มาจากภาษามาลายู ว่า "Buluh Betong" หมายถึง ไม้ไผ่ หรือ ไผ่ตง มีสถานที่เที่ยวมากมายไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ และจะมีสนามบินเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวในเร็ววันนี้
รถยนต์ ยะลาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 1,084 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามถนนเพชรเกษมผ่านเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านทุ่งสง-พัทลุง-หาดใหญ่ และเดินทางต่อไปปัตตานีจนถึงยะลา
รถปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด บริการระหว่าง กรุงเทพฯ – ยะลา รถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02 894 6122 จองตั๋ว บขส. โทร. 02 422 4444 หรือ และบริษัทเอกชน บริการระหว่างกรุงเทพฯ – ยะลา – เบตง ติดต่อบริษัท ไทยเดินรถ โทร. 0 2435 5015 และบริษัท ปิยะทัวร์ โทร. 0 2435 50
รถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงถึงสถานียะลาทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 http://www.railway.co.th
เครื่องบิน ไม่มีเครื่องบินให้บริการตรงไปยะลา แต่สามารถเดินทางไปยังหาดใหญ่ แล้วเดินทางต่อไปยังยะลาโดยรถไฟ รถประจำทาง รถแท็กซี่ หรือรถตู้ ระยะทางจากหาดใหญ่ถึงยะลาประมาณ 150 กิโลเมตร
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของคุกกี้ที่เราจัดเก็บ เหตุผลในการใช้คุกกี้ และวิธีการตั้งค่าคุกกี้ได้ใน นโยบายคุกกี้ และ คำแถลงว่าด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล